13/05/2023
เห็ดโคนหรือเห็ดปลวก (Termite mushroom) เป็นเห็ดที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับปลวก (obligate symbiosis) โดยต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน
เห็ดโคนจะเจริญเติบโตออกจากรังปลวกหรือจอมปลวก ถ้าพบเห็ดโคนเจริญเติบโตในบริเวณใดก็ตามเมื่อขุดลึกลงในดินจะพบรากเห็ดโคนเจริญมาจากรังเลี้ยงตัวอ่อน (comb) เมื่อเห็ดโคนเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะมีการสร้างสปอร์บริเวณครีบดอก และในขณะที่ดอกเห็ดบานออกจะปล่อยสปอร์ที่แก่หลุดออกจากดอก ซึ่งจะถูกลมพัดพาไปตกในบริเวณที่เหมาะสม หรือบริเวณที่มีอินทรียวัตถุมากๆ จะมีกลิ่นดึงดูดปลวกได้เป็นอย่างดี
ปลวกจะกินอินทรียวัตถุเป็นอาหารพร้อมกับคาบบางส่วนเข้าไปในรังปลวกเพื่อเก็บเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงตัวอ่อน การสร้างรังปลวกจะเริ่มที่ผิวดินก่อน สปอร์ของเห็ดโคนจะเข้าไปในรังปลวกพร้อมกับเจริญเติบโตเป็นเส้นใยอยู่ภายในรังเลี้ยงตัวอ่อน จากนั้นเส้นใยของเห็ดโคนก็จะพัฒนาไปเป็นตุ่มเล็กๆ กระจายอยู่บริเวณสวนเห็ดซึ่งอยู่ภายในรังเลี้ยงตัวอ่อน ถ้าสภาวะแวดล้อม อุณหภูมิ และความชื้นเหมาะสมตุ่มดอกจะค่อยๆ พัฒนา และเจริญไปเป็นดอกเห็ดโคนต่อไป
การสร้างรังเลี้ยงตัวอ่อน (comb)
ปลวกเพาะเลี้ยงเชื้อราจะขับถ่ายมูลออกมาสองชนิดคือ ชนิดแรกเป็นมูลที่ถูกย่อยภายในลำไส้เพียงเล็กน้อยและอยู่ในสภาพเป็นของแข็ง และชนิดที่สองเป็นมูลที่ถูกย่อยภายในลำไส้อย่างดีแล้วและอยู่ในสภาพเป็นของเหลว
มูลชนิดแรกประกอบด้วยเศษพืช (เศษไม้) ชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ปลวกกัดกินเข้าไป และผ่านกระเพาะของปลวกออกมาอย่างรวดเร็ว โดยในขณะที่ผ่านกระเพาะปลวกนั้น เศษพืชถูกคลุกเคล้าด้วยน้ำย่อย ดังนั้นมูลที่ถ่ายออกมาจึงมีรูปร่างเป็นท่อนกลมสั้นๆ ซึ่งต่อมาจะถูกกราม (mandibles) ของปลวกกัดจนเป็นเม็ดเล็กๆ แล้วนำไปสร้างเป็นรังเลี้ยงตัวอ่อน ซึ่งมีลักษณะคล้ายฟองน้ำมีรูพรุน รูปร่างติดต่อกันเป็นร่างแห ลักษณะของรังเลี้ยงตัวอ่อนมีลวดลายแตกต่างกันบางครั้งสามารถบอกสกุลของปลวกได้ (สุมาลี, 2547)
ในขณะที่ปลวกสร้างรังเลี้ยงตัวอ่อนนี้เองจะมีราเกิดขึ้น โดยเส้นใยของราจะมารวมตัวกันเป็นก้อนราสีขาวขนาดเล็กมากที่เรียกว่า nodules อยู่บนรังเลี้ยงตัวอ่อนและเป็นอาหารของปลวก แต่เมื่อถึงระยะหนึ่งปลวกจะกินน้อยลงทำให้ nodules เจริญรวมกันจนมีขนาดใหญ่ขึ้นและยืดยาวเป็นส่วนที่อยู่ใต้ดิน (pseudorhiza) งอกผ่านดินจนทะลุขึ้นเหนือผิวดินกลายเป็นดอกเห็ด
ปลวกเมื่อกินเส้นใยของราเข้าไปแล้วจะถ่ายมูลออกมาเป็นมูลชนิดที่สอง คือเป็นของเหลวซึ่งปลวกนำไปใช้เคลือบผนังด้านในของห้องเห็ด ดังนั้นรังเลี้ยงตัวอ่อนจะมีน้ำย่อยจากลำไส้ของปลวกผสมอยู่ด้วย น้ำย่อยนี้อาจจะ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เส้นใยของเห็ดโคนเจริญเติบโตดี ส่วนประกอบของรังเลี้ยง ตัวอ่อน (comb) สร้างจากกากอาหารของปลวกนั่นเอง
การเจริญเติบโตของเห็ดโคนจากการศึกษาของ Bels, P.J. and Pataragetvit, S. (1982) แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1
ระยะแรกจะเริ่มต้นภายในรังเลี้ยงตัวอ่อน (comb) ปรากฏกลุ่มของ เส้นใยที่มีลักษณะกลมมีขนาดเล็กกระจายกันอยู่ทั่วไป เส้นใยมีสีขาวคือกลุ่มของเส้นใยเห็ดโคน จากนั้นเส้นใยจะรวมตัวกันและจะเจริญเป็นปมเล็กๆ (nodules) ซึ่งมีขนาดประมาณ 0.5-1.5 มม. และบางครั้งจะพบเส้นใยสีเขียวมะกอกซึ่งเป็นกลุ่มเส้นใยของเชื้อรา Xylaria sp. เจริญปะปนอยู่ด้วย บริเวณรังเลี้ยงตัวอ่อนจะมีตัวอ่อนของปลวกเป็นจำนวนมากกินเส้นใยและตุ่มเห็ดเป็นอาหาร ตัวอ่อนของปลวกจะช่วยกันดูแลและควบคุมการเจริญเติบโตของเส้นใย ซึ่งเป็นการกระตุ้นหรือช่วยเร่งการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดโคน และช่วยลดการเจริญเติบโตของเส้นใยเชื้อรา Xylaria sp. ด้วย
ระยะที่ 2
เป็นระยะที่ปลวกกินเส้นใยเห็ดโคนน้อยลง เนื่องจากมีการอพยพไปสร้างรังใหม่ ทำให้เส้นใยเห็ดโคนเจริญเติบโตเป็นกลุ่มเส้นใยคล้ายกำมะหยี่ สีขาว โดยมีเชื้อราสีเขียวมะกอกของ Xylaria sp. เจริญควบคู่กันไปด้วย ในระยะที่สองนี้เส้นใยเห็ดโคนจะเริ่มพัฒนาไปเป็นส่วนที่คล้ายราก (pseudorhiza) ซึ่งจะเจริญเติบโตไปเป็นดอกเห็ดโคนต่อไป มักอยู่ในช่วงฤดูฝน บางครั้งพบว่าเชื้อรา Xylaria sp. ก็เริ่มพัฒนาเป็นดอกเช่นกัน จะมีลักษณะเป็นแท่งขนาดเล็กสีดำ แต่ไม่สามารถเจริญผ่านชั้นของดินขึ้นมาได้ จะเกิดได้เฉพาะในรังปลวกเท่านั้น แต่สำหรับเห็ดโคนซึ่งมีหมวกดอกที่แข็งแรงสามารถ เจริญแทงผ่านทะลุชั้นของพื้นดินขึ้นมาได้
ระยะที่ 3
เป็นระยะสุดท้ายซึ่งไม่มีเชื้อเห็ดโคนและไม่มีตัวปลวก รังเลี้ยงตัวอ่อนจะมีสีเขียวปนดำ และมีเส้นใยของเชื้อรา Xylaria sp. ขึ้นกระจายอยู่ทั่วรังปลวกและบางครั้งอาจโผล่ออกมาจากรังปลวกได้ ในระยะแรกเส้นใยจะมีสีขาวภายหลังจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
นิเวศวิทยาของเห็ดโคน
การแพร่กระจายของชนิดเห็ดโคนจะเกิดควบคู่กันไปกับการกระจายตัวของชนิดปลวกเพาะเลี้ยงเชื้อราที่อาศัยอยู่ร่วมกัน พบขึ้นในประเทศที่อยู่ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นเท่านั้น เช่น ทวีปแอฟริกา เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบางส่วนพบอยู่ทางตอนใต้ของจีน ญี่ปุ่น และเกาะไต้หวัน
โดยจะพบเห็ดโคนขึ้นอยู่ทั่วไปในบริเวณพื้นที่ที่มีปลวกเพาะเลี้ยงเชื้อราสร้างรังอยู่ใต้พื้นดินหรือขึ้นบนจอมปลวก
ในประเทศไทยมีระบบนิเวศที่เหมาะสมกับการเกิดเห็ดโคนเนื่องจากอยู่ในเขตมรสุมที่มีฝนตกชุก และส่วนใหญ่เห็ดโคนมักแพร่กระจายในสภาพนิเวศป่าที่ค่อนข้างโปร่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีป่าไผ่ขึ้นอยู่เห็ดโคนจะชอบขึ้น นอกจากนี้ยังพบมีการแพร่กระจายอยู่ในระบบนิเวศของป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ตลอดไปจนถึงพื้นที่เกษตรกรรม เช่น สวนผลไม้ และสวนป่าสัก เป็นต้น ในประเทศไทยเห็ดโคนจะเริ่มออกตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม ถ้าฤดูฝนยาวนานกว่าปกติอาจพบเห็ดโคนได้ในเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคม
ทางภาคใต้เห็ดโคนสามารถขึ้นได้สองครั้งต่อปี เห็ดโคนสามารถพบได้ทั้งชนิดที่ขึ้นอยู่บนจอมปลวกและบริเวณพื้นที่รอบๆ จอมปลวก หรือขึ้นกระจายอยู่บริเวณที่ราบหรือเนินบนพื้นดินทั่วไป โดยที่ไม่มีจอมปลวกแต่จะมีรังปลวกอาศัยอยู่ใต้ดิน โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ที่มีการปกคลุมด้วยเศษไม้และใบไม้ร่วงหล่นทับถมกันอยู่ โดยทั้งชนิดของเห็ดโคนและช่วงการเกิดดอกเห็ดจะแตกต่างกันออกไปตามสภาวะแวดล้อมในแต่ละพื้นที่
สภาพดินที่พบเห็ดโคนเจริญเติบโตจะเป็นดินเหนียว ดินเหนียวปนทราย ดินเหนียวปนดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย และเป็นบริเวณที่มีความชุ่มชื้น อยู่เสมอ ส่วนบนพื้นดินจะปกคลุมด้วยเศษไม้และใบไม้ หรือต้นหญ้าก็ได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเกิดเห็ดโคนประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดินประมาณ 6.2-6.5 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบริเวณพื้นดินเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ และ ความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศประมาณ 85-90%
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดโคน
บริเวณรังปลวกที่มีเห็ดโคนขึ้นอยู่จะมีความชื้นสูงมาก อุณหภูมิภายในโพรงของรังปลวกประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิภายนอกรังปลวก ประมาณ 26-27 องศาเซลเซียส สภาพความเป็นกรด-ด่าง (pH) ประมาณ 5.0-5.6 และความชื้นสัมพัทธ์ของบรรยากาศประมาณ 70-80%
ที่มา : เห็ดโคนกับปลวกและการเพาะเลี้ยงเห็ดโคน (2552) โดย สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม