21/06/2022
EXPLAINER: ทำไมเราตอบสนองต่อกัญชาต่างกัน? รู้จักระบบเอ็นโดรแคนาบินอยด์ ที่ซ่อนอยู่ในร่างกายเราทุกคน
ทำไมบางคนใช้กัญชาแล้วรู้สึกดี ขณะที่อีกคนหนึ่งรู้สึกเข็ดขยาดกับกัญชาหลังจากการใช้ครั้งแรก ทำไมร่างกายเราถึงตอบสนองต่อกัญชาไม่เหมือนกัน…
“กัญชาเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมาก” ข้างต้นคือคำกล่าวของ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งที่มาของคำกล่าวนี้คือ ระบบกัญชาในร่างกาย หรือที่วงการแพทย์เรียกกันว่า 'ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ (Endocannabinoid System: ECS)'
*ตั้งแต่ข้างล่างนี้จะใช้ตัวย่อ ECS แทนคำว่าระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์
#อะไรคือECS
ตั้งต้นกันก่อน สารในกัญชาที่ส่งผลต่อร่างกายของเราถูกเรียกรวมๆ ว่า ‘แคนนาบินอยด์ (Cannabinoid)’ ซึ่งมีมากมายหลายร้อยชนิด แต่ที่คุ้นเคยกันดีคือ THC และ CBD ซึ่งบุคคลที่สำคัญต่อสารทั้งสองตัวคือ ดร.ราฟาเอล เมคูลัม นักเคมีชาวอิสราเอล ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งกัญชาทางแพทย์สมัยใหม่
โดยหลังจากที่เขาพบสาร CBD ไม่นาน ในปี 1964 เขาและทีมวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์แมนประเทศอิสราเอล ได้สกัดสารจากกัญชาออกมาหลายตัว เพื่อทดลองว่าสารตัวไหนที่ส่งผลต่อจิตประสาท ทีมของเขาได้ทดลองฉีดสารต่างๆ เข้าไปในร่างกายของลิง ก่อนพบว่าสารตัวหนึ่งซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ THC สามารถทำให้ลิงสงบลงได้อย่างน่าประหลาด และนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ค้นพบสารชนิดอื่นๆ ในกัญชาต่อมา
หมุดหมายสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1991 เมื่อ ไมลส์ เฮอร์เคนแฮม และทีมวิจัยได้ค้นลึกเข้าไปในร่างกายมนุษย์และพบว่า ร่างกายของมนุษย์นั้นมี ตัวรับสารแคนนาบินอยด์ (Canabinoid Receptor) หรือเปรียบเป็นเสารับสัญญาณที่คอยตอบสนองเมื่อสารจากกัญชาเข้ามาสู่ในร่างกาย ซึ่งตัวรับสารที่พวกเขาค้นพบคือ CB1 และ CB2
สำหรับ CB1 พบได้ในสมองหลายส่วนทั้ง ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่รับผิดชอบส่วนความจำ, เปลือกสมอง (Cerebral Cortex) ส่วนการรับรู้, ซีรีเบลลัม (Cerebellum) ทำงานร่วมกันของระบบประสาทเพื่อการเคลื่อนไหว, ไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ส่วนความต้องการพื้นฐานเช่น ความหิว การสืบพันธุ์, การพักผ่อน หรือ อมิกดาลา (Amygdala) ในส่วนของอารมณ์
ขณะที่ CB2 พบได้ในระบบภูมิคุ้มกัน, ระบบประสาทส่วนปลาย รวมถึงในกระเพาะ, ม้าม, ตับ, หัวใจ, ไต, กระดูก, เส้นเลือด, เซลล์น้ำเหลือง, อวัยวะสืบพันธุ์ และต่อมไร้ท่อต่างๆ .
หรือสรุปได้ว่าแทบทุกส่วนของร่างกายเรามีกัญชาธรรมชาติซ่อนอยู่
และการค้นพบตัวรับสัญญาณจากกัญชาในร่างกายนี่เอง ทำให้วงการนักวิจัยสันนิษฐานว่าร่างกายของมนุษย์น่าจะต้องผลิตสารบางตัวที่พบในกัญชาได้เช่นกัน และในอีกไม่กี่ปีต่อมาเป็นเมคูลัมเจ้าเดิมที่ค้นพบสาร 2 ตัวที่ร่างกายสามารถผลิตขึ้นได้เอง ในชื่อว่า Anandamide และ 2-AG (2-arachidonoylglycerol)
และในเวลาต่อเป็น เมคูลัมอีกนั่นแหละที่บัญญัติคำศัพท์ว่า ‘Endocannabinoid System’ ขึ้นมาใช้ ซึ่งคำนี้มาจาก endogenous ที่แปลว่าผลิตได้เอง และ cannabibnoid ซึ่งเป็นคำเรียกรวมๆ ของสารในกัญชา
่างไร
อย่างที่อธิบายไปข้างต้นว่า ECS นั้นถูกพบแทบในทุกส่วนของร่างกายมนุษย์ โดยหน้าที่ของมันคือการรักษาและตรวจเช็กสมดุลของระบบในร่างกายให้ดำเนินไปเป็นปกติ ไม่ว่าในเรื่องของ ความจำ, ความอยากอาหาร, การนอนหลับ, ความเจ็บปวด, ความเครียด, อุณหภูมิและระบบเผาผลาญ, ความกังวล, ระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงระบบสืบพันธุ์ และอื่นๆ ในร่างกาย และเมื่อไหร่ก็ตามที่ระบบเหล่านี้เกิดขัดข้อง ECS จะพยายามแก้ไขให้กลับสู่ปกติ
ยกตัวอย่างให้ชัดเจนขึ้น เมื่อร่างกายเรามีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ECS นี่เองที่จะมีส่วนตอบสนองให้เราเหงื่อออก หรือเวลาที่เรารู้สึกหิวและได้ยินเสียงท้องร้อง ระบบนี่เองที่มีส่วนตอบสนองออกไปเพื่อให้ร่างกายรู้ว่าต้องการพลังงานเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน เมื่อร่างกายเรารับสารแคนนาบินอยด์จากกัญชาภายนอกเข้าสู่ร่างกาย ตัวรับสัญญาณหรือ Receptor ในระบบ ECS ซึ่งอยู่ในสมองและร่างกายหลายส่วนนี่เองที่คอยจับและตอบสนองต่อกัญชา โดยเฉพาะสาร THC ซึ่งจับได้กับตัวรับทั้ง CB1 และ CB2
สำหรับผู้ที่พึงใจกับการใช้กัญชา มีสาเหตุเพราะเมื่อสาร THC ในกัญชาเข้าสู่ร่างกายมันจะจับกับตัวรับ และส่งผลต่อสมองส่วนที่เรียกว่า นิวเคลียสแอกคัมเบนส์ (Nucleus Accumbens) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้รางวัล, ความพึงใจ รวมถึงการเสพติด และทำให้ผลิตสารความสุข หรือโดพามีนออกมา
ตัวรับสัญญาณ CB1 ยังพบได้ในสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวคือ บาซัลแกงกาเรีย (Basal Ganglia) และ ซีรีเบลัม (Cerebellum) ทำให้เมื่อสาร THC เข้าสู่ร่างกายทำให้เรารู้สึก ‘ช้า’ และส่งผลต่อการขับขี่พาหนะเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอจากมหาวิทยาลัยคาร์ลตันชี้ว่า เมื่อร่างกายเรารับสารแคนนาบินอยด์จากภายนอกมากเกินไป มีส่วนทำให้ ECS ในร่างกายผลิตสารแคนนาบินอยด์ด้วยตัวเองน้อยลง และทำให้ระบบประสาทของเราเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดความผันผวนของอารมณ์ หรืออาการซึมเศร้า และเมื่อใช้อย่างยาวนานหนักขึ้นก็มีโอกาสทำให้เกิดโรคจิตเภทอีกด้วย
ขณะที่ วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังไม่มั่นใจนักต่อความสัมพันธ์ระหว่างสาร CBD และ ECS บ้างเชื่อว่ามันทำให้ฤทธิ์จากสาร THC ที่ส่งผลต่อร่างกายลดลง บ้างเชื่อว่ามันช่วยรักษาประสิทธิภาพของระบบ ECS ในร่างกาย และบ้างเชื่อว่ามันส่งผลกับร่างกายผ่านตัวรับที่ยังไม่ถูกค้นพบ
#ทำไมกัญชาถึงส่งผลต่อร่างกายต่างกัน
ร่างกายมนุษย์ถูกสร้างขึ้นจากความแตกต่างทางดีเอ็นเอจำนวนมาก ดังนั้น แต่ละคนจึงมีระบบ ECS ในร่างกายที่แตกต่างกัน นพ.ธีระวัฒน์ เคยให้สัมภาษณ์กับ 101world ไว้ถึงอาการเสพติดกัญชา โดยยกข้อสรุปของเวทีประชุมนักวิทยาศาสตร์เรื่องระบบสมองในนิวยอร์ก โดยในที่ประชุมนั้นสรุปได้ว่า
“เราพบว่าการติดกัญชาไม่ได้เกิดจากกัญชา แต่เกิดขึ้นเพราะคนๆ นั้นมีรหัสพันธุกรรมที่พร้อมจะติด และถ้าหากจะเลิก ทุกคนสามารถเลิกได้ภายใน 20 วัน หลังหยุดไม่มีอาการคลุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น”
คุณหมอยังชี้ไปถึงสาเหตุจากอาการเสพติดกัญชาอีกประการคือ วัฒนธรรมการใช้กัญชาที่ถูกกดทับจากกฎหมาย ทำให้กัญชาหาได้ยาก เมื่อมีโอกาสจึงใช้ในปริมาณที่มากเกินไป เช่น สูบรวดเดียวหลายพัฟ (Puff) เพราะกลัวไม่ออกฤทธิ์ จนสุดท้ายทำให้สมองเสพติดความสุขที่เกิดขึ้นจากกัญชาในที่สุด
เช่นเดียวกับอาการทางจิต ซึ่ง นพ.ธีระวัฒน์ยกโครงการเก็บข้อมูลทางสมองของสหรัฐฯ ซึ่งพบว่า ความเชื่อว่าอาการทางจิตเกิดจากกัญชา ไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด แต่เกิดเพราะบางคนมียีนส์บางตัวที่เสี่ยงต่ออาการเหล่านี้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับความเชื่อที่ว่าถ้าสูบกัญชาแต่เด็กเสี่ยงต่อเกิดโรคจิตเภท นั่นก็เป็นเพราะในร่างกายของคนๆ นั้นมีตัวรับสัญญาณกัญชาในสมองมากกว่าคนธรรมดา
เช่นเดียวกับสีผิว, เส้นผม, รูปร่าง และโรคประจำตัว เราทุกคนล้วนแตกต่างในทางดีเอ็นเอ แต่ละคนจึงมีการตอบสนองต่อกัญชาที่แตกต่างกัน ดังนั้น การอยู่ร่วมกันกัญชาที่ดีที่สุดคือยืนยันในหลักการของสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล หรือพูดบ้านๆ ได้ว่า “อย่าบังคับใครใช้กัญชา” เพราะทุกคนไม่เหมือนกัน
อ้างอิง:
https://www.youtube.com/watch?v=AYNTEB1X5Kg
https://www.health.harvard.edu/blog/the-endocannabinoid-system-essential-and-mysterious-202108112569
https://www.healthline.com/health/cbd-for-fibromyalgia
https://www.the101.world/thiravat-hemachudha-interview/
https://www.sawasdeeclinic.com/cannabis-endocannabinoid-system/
https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2019/08/การแพทย์แคนนาบินอยด์-และกัญชาการแพทย์.pdf
https://healthserv.net/Endocannabinoid-System-ECS-8858
Photograph by Asadawut Boonlitsak
#กัญชา #กัญชง