06/11/2021
#เรื่องเล่าเบียร์ ทำไมเวียดนามจึงได้ชื่อว่า “เมืองหลวงคราฟท์เบียร์แห่งเอเชีย”
:
ปี ค.ศ.1990 คือจุดเริ่มต้นของคราฟท์เบียร์ในเวียดนาม เมื่อชาวเวียดนามที่เรียนและทำงานในต่างประเทศกลับมาต้มเบียร์ที่ประเทศบ้านเกิด จนกระทั่งปี 2010 เริ่มมีการทำตลาดและขายกันในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง โดยมี “Platinum” เป็นคราฟท์เบียร์รายแรก หลังจากนั้นตลาดคราฟท์เบียร์ก็เติบโตขึ้นทุกปี
:
รัฐบาลเวียดนามมีกฎระเบียบและขั้นตอนในการตั้งธุรกิจที่ไม่ยุ่งยาก ที่สำคัญไม่กำหนดปริมาณหรือกำลังการผลิตขั้นต่ำ ทำให้ปี 2014 ต่างชาติเข้ามาผลิตเบียร์ในประเทศเป็นจำนวนมาก เกิดแบรนด์คราฟท์เบียร์ขึ้นมากมาย เช่น Pasteur Street Brewing Company, Winking Seal, Heart of Darkness, Fuzzy Logic และ C-Brewmaster จนทุกวันนี้เวียดนามมีโรงเบียร์มากกว่า 90 แห่ง
:
แม้ตลาดเบียร์ในเวียดนาม 90% ถูกครอบครองโดยนายทุนรายใหญ่ไม่กี่ราย เช่น Sabeco Brewery, Heineken, Carlsberg แต่ยังสามารถเติบโตได้ประมาณ 6% ทุกปีและจะมีมูลค่ากว่า 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025
:
กลุ่มลูกค้าหลักของคราฟท์เบียร์คือคนรุ่นใหม่ที่มีสัดส่วนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดกันว่าในปี 2045 เวียดนามจะมีคนหนุ่มสาววัยทำงานเพิ่มเป็น 50% ของประชากรเลยทีเดียว
:
ปัจจุบันมีโรงเบียร์ขนาดเล็กเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ หลายแห่งได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนต่างชาติเพราะมองเห็นโอกาสเติบโต ทำให้เกิดการพัฒนา สร้างตัวตนและความแตกต่าง อย่างการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบ เช่น กาแฟ ช็อคโกแลต ตะไคร้ เครื่องเทศต่างๆ หรือแม้แต่ทุเรียน จนปัจจุบันคราฟท์เบียร์เวียดนามมีมากกว่า 70 ชนิด
:
แต่ก็มีความท้าทายหนึ่งที่ผู้ผลิตรายย่อยต้องเจอคือ ราคาเมื่อเทียบกับเบียร์ท้องตลาดทั่วไปที่ยังแพงกว่า แต่จุดขายสำคัญในเรื่องรสชาติ กรรมวิธีการผลิต และรสนิยมในการดื่มของคนรุ่นใหม่ คือสิ่งที่ทำให้คราฟท์เบียร์ยังเติบโตได้ รวมถึงการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้นักดื่มได้เห็นถึงขั้นตอนการผลิต วัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงและความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนรู้สึกคุ้มค่าที่จะจ่ายแม้ราคาแพงกว่า 2-3 เท่าก็ตาม
:
ปัจจุบันคราฟท์เบียร์เวียดนามอยู่ในระดับสากลไปแล้ว ยืนยันความสำเร็จนี้ได้ผ่านรางวัลมากมายที่ผู้ผลิตในประเทศได้รับ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงคราฟท์เบียร์แห่งเอเชีย” ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายทั่วอเมริกา ยุโรป และเอเชียที่เริ่มมีสัดส่วนมากขึ้นจากความเชื่อมั่นในคุณภาพและเอกลักษณ์เฉพาะตัว
:
อนาคตที่สดใส ช่องทางการทำธุรกิจที่เปิดกว้าง ไม่มีกฎหมายมากีดกัน จึงไม่แปลกเลยที่คราฟท์เบียร์ไทยหลายแบรนด์ต้องไปผลิตที่เวียดนามแล้วส่งมาขายให้คนไทยอีกทอดหนึ่ง และหลายครั้งได้รับรางวัลระดับโลกภายใต้ชื่อแบรนด์และเจ้าของที่เป็นคนไทย แต่กลับกลายเป็นรางวัลในนามประเทศเวียดนามตามฐานที่ตั้งการผลิต
:
นับเป็นเรื่องเศร้าที่รัฐไทยกีดกันนักปรุงเบียร์และนักธุรกิจไทยจนต้องออกนอกประเทศ พร่ำสอนเราว่าของมึนเมาคือสิ่งผิดต่อศีลธรรมอันดีงามที่ต้องควบคุม แต่กลับควบคุมประชาชนเพื่อให้บางคนสุขสบาย
:
แปลและเรียบเรียงโดย ฟองเบียร์
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.asiaperspective.com/booming-craft-beer-industry-vietnam/
https://www.cekindo.vn/blog/vietnams-burgeoning-craft-beer-landscape
https://www.jovelchan.com/blog/an-insight-into-vietnams-booming-craft-beer-culture-2021
https://en.wikipedia.org/wiki/Beer_in_Vietnam
#ประชาชนเบียร์