28/02/2023
ปวดคอบ่อย ต้องระวัง "โรคกระดูกคอเสื่อม"
#คอบ่าแข็งตึง #ปวดคอไม่ใช่เรื่องเล่น อาจเป็นสาเหตุของโรคกระดูกคอเสื่อม อาการปวดคอเริ่มต้นจากกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง กระดูกคอเสื่อม กระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท ไปจนถึงกระดูกคอเสื่อมทับไขสันหลัง จากเรื่องการปวดเมื่อยคอธรรมดาหากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิดได้นะคะ
ด้วยยุคสมัยที่ทำให้เราหลีกหนีไม่พ้น เรื่องของการใช้โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น การค้าขายออนไลน์ การนั่งเรียนออนไลน์ การทำงานติดต่อกันออนไลน์ ส่งผลให้กิจกรรมเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดคอ เริ่มที่การมีอิริยาบถไม่ถูกต้อง เช่น
1. นอนหนุนหมอนสูงเกินไป ต่ำเกินไป
2. ก้มหรือเงยหน้านานๆ
3. ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ จัดตำแหน่งคอมไม่ถูกต้อง
4. เขียนหนังสืออ่านหนังสือเป็นเวลานานๆ โดยไม่หยุดพัก
5. นั่งขับรถติดต่อกันหลายชั่วโมง
ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการที่เราอยู่ในอิริยาบทไม่ถูกต้องนี้ส่งผลให้มีการเสื่อมสมรรถภาพของกระดูกคอได้ก่อนวัยอันควร ระดับอาการของการปวดคอมีดังนี้:
1. กล้ามเนื้อคออักเสบ คือ ปวดตึงกล้ามเนื้อรอบคอ เมื่อก้มคอเล่นโทรศัพท์ เมื่อนั่งนานๆ พอขยับเปลี่ยนท่าอาการจะดีขึ้น
2. กระดูกคอเสื่อม คือ นั่งทำงานนานๆเริ่มอาการปวดเมื่อยต้นคอ บ่า ไหล่ มีปวดร้าวขึ้นศีรษะ กระบอกตา
3. กระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทคอ คือ ปวดต้นคอ บ่า ไหล่และชาแปล๊บ ตามแนวเส้นประสาท อ่อนแรงบริเวณกล้ามเนื้อต้นแขนหรือมือ เขียนหนังสือไม่ถนัด จับสิ่งของหล่นบ่อย รวมทั้งปวดร้าวจากคอลงไปที่แขน
4. กระดูกคอเสื่อมกดทับไขสันหลัง จะมีอาการเกร็งบริเวณลำตัว แขนและขา การทรงตัวไม่ดี ก้าวสั้น ใช้งานมือได้ไม่ถนัด เดินแล้วล้มบ่อย
หากเริ่มมีอาการดังกล่าวควรจะรีบเข้ามารับการตรวจกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง แพทย์จะทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ, การทรงตัวของร่างกาย รวมถึงปฏิกริยาตอบสนองอัตโนมัติของแขนขาเพื่อหาสาเหตุ และวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง และรักษาให้หายอย่างถาวร
วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ที่มีอาการปวดคอ
1. ลดอาการปวดและคลายจุดกดเจ็บของกล้ามเนื้อ
โดยการใช้เครื่อง โฟกัสช็อคเวฟ นวัตกรรมใหม่ล่าสุดซึ่งเป็นคลื่นกระแทก สามารถยิงจุดกดเจ็บให้คลายตัวออกจากกัน ,ใช้อัลตร้าซาวด์บำบัด เป็นพลังงานความร้อนเพิ่มการไหลเวียนเลือดและซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บ ,ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อคลายกล้ามเนื้อ
2. ลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ
โดยใช้ high power laser เป็นพลังงานแสงเลเซอร์เพื่อเติมพลังงานให้กับเซลล์ช่วยเร่งกระบวนการซ่อมแซมให้หายไวขึ้น
3. เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยนักกายภาพบบำบัดจะเป็นผู้ออกแบบท่าทางให้เหมาะกับบุคคล
4. ปรับพฤติกรรมจัดท่าทางให้เหมาะสมโดยนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้แนะนำ และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด